การทำธุรกิจ ผู้ประกอบการทุกรายย่อมมีเป้าหมายที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต มีกำไร ลูกค้าประทับใจ ขยายธุรกิจ เกิดความยั่งยืน คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่สร้างธุรกิจมาแล้ว ไม่พัฒนาธุรกิจให้เติบโต แน่นอนว่าผู้ประกอบการทุกรายย่อมอยากให้ธุรกิจเติบโต แต่การจะเติบโตได้ย่อมมีเหตุปัจจัยที่ดี จะสังเกตเห็นว่าธุรกิจประเภทเดียวกันบางบริษัทเติบโตแต่บางบริษัทไม่เติบโต นั่นเป็นเพราะเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน
เหตุปัจจัยที่มีผลทำให้ธุรกิจเติบโต มีกำไร ลูกค้าประทับใจ ขยายธุรกิจ เกิดความยั่งยืน คือ “กลยุทธ์ (Strategy)” นั่นเอง บริษัทที่มีการกำหนดกลยุทธ์ที่ดี สามารถแข่งขันได้ มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยทางธุรกิจทั้งภายนอกและภายในอย่างถูกวิธี ถูกทาง มีเหตุผล และเกิดผล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างรวดเร็วและรุนแรง บริษัทที่มีการกำหนดกลยุทธ์ที่ดีจะมีการวิเคราะห์ปัจจัยทางธุรกิจทั้งภายนอกและภายใน ด้วยความถี่ที่มากขึ้นเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงทีเช่นกัน
จะเห็นว่าการกำหนดกลยุทธ์ที่ดีต้องมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยทางธุรกิจ (Business Analysis) ที่ถูกวิธี ถูกทาง มีเหตุผล และเกิดผล แล้วมีหลักการอะไรบ้าง ? ที่ธุรกิจต้องวิเคราะห์ปัจจัยทางธุรกิจ
1. เข้าใจลูกค้า
ธุรกิจควรจัดทำ Value Proposition Canvas เพื่อวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกับคุณค่าของสินค้าและบริการสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้
- เข้าใจความคาดหวังของลูกค้า
จาก Value Proposition Canvas ควรวิเคราะห์ต่อว่าคุณค่านั้นมีความแตกต่างจากคู่แข่งและเป็นคุณค่าที่ลูกค้ารู้สึกได้ถึงคุณค่าเพิ่ม จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย ถ้าวิเคราะห์แล้วไม่มีคุณค่าเพิ่มธุรกิจควรต้องหามาเพิ่ม
2. รู้จักตนเอง
- รู้ความสามารถของธุรกิจเรา
ธุรกิจควรวิเคราะห์ FAB Analysis
- คุณสมบัติของสินค้าและบริการ (Features) มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? มีขนาดรูปร่างเป็นอย่างไร? ใช้งานอย่างไร? มีบริการอะไรบ้าง? เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้หรือไม่
- จุดเด่น ความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่ง (Advantages) วิเคราะห์สินค้าและบริการของธุรกิจเรามีความแตกต่าง มีคุณค่าอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่ง เพราะจะเป็นคุณค่าที่แท้จริงที่ลูกค้าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก
- ประโยชน์ต่อลูกค้า (Benefits) วิเคราะห์สินค้าและบริการของธุรกิจเรามีประโยชน์หรือคุณค่าอะไรต่อบ้าง (ที่มากกว่าการแก้ปัญหา) ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจ ประทับใจ อยากบอกต่อ
- รู้จุดแข็ง จุดอ่อน ของธุรกิจเรา
- ธุรกิจควรวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain Analysis) เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน ในกระบวนการธุรกิจ จุดแข็งนำไปบวกกับโอกาสเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้มแข็งและรวดเร็ว จุดอ่อนนำโอกาสมาแก้ไขเพื่อผลักดันธุรกิจให้ไปถึงเป้าหมาย
- ธุรกิจควรวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Analysis) เพื่อควบคุมต้นทุน กระแสเงินสดสินค้าและบริการ และข้อมูลตั้งแต่ผู้ส่งมอบจนถึงส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้า จนถึงบริการหลังการขาย
3. มองเห็นคู่แข่ง
- ธุรกิจควรวิเคราะห์ Five Force Model เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับตลาดของอุตสาหกรรมที่ธุรกิจเราอยู่และคู่แข่ง เพื่อค้นหาว่ามีโอกาสหรือเป็นอุปสรรค แล้วนำไปกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมในการแข่งขัน ได้แก่การวิเคราะห์การแข่งขันของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ สินค้าทดแทน อำนาจต่อรองของลุกค้า อำนาจต่อรองของผู้ส่งมอบวัตถุดิบ
- ธุรกิจควรวิเคราะห์ กลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy) ของคู่แข่งที่ธุรกิจเราจะแข่งขันด้วย ได้แก่ Cost Leadership / Cost Focus / Differentiation / Differentiation Focus เพื่อรู้เขารู้เรา จะได้กำหนดกลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจได้ถูกต้อง
4. ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม
- ปรับตัวตามแนวโน้มของธุรกิจ
- ธุรกิจควรวิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจ ตามพฤติกรรมผู้บริโภค ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อกำหนดกลยุทธ์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
- ปรับตัวตามปัจจัยสภาพแวดล้อมธุรกิจ
- ธุรกิจควรวิเคราะห์ SWOT Analysis (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค)
โอกาส (Opportunities-O) หมายถึงปัจจัยหรือสถานการณ์ที่อยู่ภายนอกบริษัทที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธรุกิจของบริษัท
อุปสรรค (Threats-T) หมายถึงปัจจัยหรือสถานการณ์ที่อยู่ภายนอกบริษัทที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธรุกิจของบริษัท
ประเด็นสำคัญควรวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกก่อนเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความอยู่รอดของบริษัทเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ PEST Analysis และ Five Force Model
จุดแข็ง (Strengths-S) หมายถึง ความสามารถขององค์กรทักษะความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านและทรัพยากรที่มีีคุณค่าในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง
จุดอ่อน (Weaknesses-W) หมายถึงสี่งที่องค์กรไม่มีทำได้ไม่ดีกว่าคู่แข่งเป็นสภาพการณ์ที่ก่อให้เกิดการเสียเปรียบคู่แข่งขัน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ Mckinsey 7-S Framework VRIO Framework และ Value Chain
หลังจากวิเคราะห์ SWOTแล้วให้วิเคราะห์ “TOWS Matrix”เป็นการจับคู่ระหว่าง ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในและปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกทีละคู่
จับคู่ “จุดแข็ง กับ โอกาส (S + O) จะได้ กลยุทธ์เชิงรุก”
จับคู่ “จุดแข็ง กับ อุปสรรค (S + T) จะได้ กลยุทธ์เชิงป้องกัน”
จับคู่ “จุดอ่อน กับ โอกาส (W + O) จะได้ กลยุทธ์เชิงแก้ไข”
จับคู่ “จุดอ่อน กับ อุปสรรค (W + T) จะได้ กลยุทธ์เชิงรับ” “พลิกวิกฤติิเป็นโอกาส”
“การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ = มีสติ รู้เท่าทันปัจจุบัน ว่าเราอยู่ที่ใด เรากำลังทำอะไร เราเก่งและมีโอกาสอะไร เราพบปัญหาและอุปสรรคอะไรอยู่ และจะทำอะไรต่อไป เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายให้ได้”
อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์
ที่ปรึกษาการจัดการเชิงกลยุทธ์