602 จำนวนผู้เข้าชม |
โมเดลธุรกิจที่เขียนโดยใช้ เครื่องมือที่เรียกว่า “แบบจำลองธุรกิจ (Business Model Canvas หรือ BMC)” ที่มี 9 ช่อง ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแผ่นเดียว จะทำให้คิดแบบมองภาพใหญ่ (Big Picture Thinking) และมองภาพรวมออก
ทั้ง 9 ช่อง จะแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ผู้จัดการ ที่เข้าใจโครงสร้างการบริหารธุรกิจ จะให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจเป็นเรื่องแรก ๆ เพราะถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเติบโต และขยายธุรกิจออกไปได้ เพราะจะเห็นความสัมพันธ์ในกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมด รู้ความต้องการของลูกค้า (Wants & Needs) รู้ถึงปัญหาของลูกค้า (Pain Point) รู้ถึงความต้องการประโยชน์ที่มากขึ้น (Gain Point) รู้ถึงคุณค่าที่จะส่งมอบให้โดนใจลูกค้า (Value Proposition) รู้ว่าธุรกิจมีสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างอย่างไรกับคู่แข่งในตลาด (Differentiation) รู้ว่าจะใช้ทรัพยากรหลักอะไรในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดคุณค่าส่งมอบให้โดนใจลูกค้า (Key Resources) รู้ว่ามีรายได้กี่รูปแบบ (Revenue Streams)
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาให้คำปรึกษาหลาย ๆ สถานประกอบการพบว่า หลายสถานประกอบการยังไม่มีการวาดแบบจำลองธุรกิจ สถานประกอบการที่มีการวาดแบบจำลองธุรกิจก็ยังมีความเข้าใจกันน้อยในการวาดแบบจำลองธุรกิจ (BMC) การเขียนที่ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าของสินค้าและบริการที่จะมอบให้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว้างเกินไปจนไม่สามารถมุ่งเน้นความต้องการที่แท้จริง ปัญหา ความคาดหวังของลูกค้าได้ (Customer Insight) คุณค่าของสินค้าและบริการไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ทรัพยากรที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดความแตกต่างได้ รูปแบบรายได้มีแค่รูปแบบเดียว จึงทำให้ธุรกิจประสบปัญหาไม่เติบโต
การให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ ก็จะวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ ข้อมูลทั้งปัจจัยภายใน (จุดแข็ง จุดอ่อน) และปัจจัยภายนอก (โอกาส อุปสรรค) ข้อมูลการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนกลยุทธ์ วิเคราะห์แล้วระบุปัญหาทางธุรกิจที่เกิดขึ้น สุดท้ายวินิจฉัยว่าต้องปรับปรุงแบบจำลองธุรกิจอย่างไร ? ให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยมีลำดับการดำเนินการดังนี้
1. เมื่อเราวาดแบบจำลองธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน (BMC Present) ได้แล้วคือ ทำอย่างไรเขียนตามนั้น (ตามความเป็นจริง)
2. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงของแต่ละกระบวนการในแบบจำลองธุรกิจ (ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น)
3. จากข้อ 2 ระบุปัญหาที่เห็นในแบบจำลองธุรกิจที่ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และหาแนวทางใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างความแตกต่าง ทบทวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การสร้างคุณค่าใหม่ การทำในสิ่งที่ตลาดไม่มี
4. วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค บนแบบจำลองธุรกิจ เพื่อนำจุดแข็งกับโอกาสซึ่งเป็นเชิงบวกสร้างกลยุทธ์ไปขับเคลื่อนธุรกิจได้เลย ส่วนจุดอ่อนกับอุปสรรคเป็นเชิงลบสร้างกลยุทธ์การแก้ไขให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมาย
5. จากข้อ 3 และ 4 นำคุณค่าทั้งหมดที่เห็นมากำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ
6. วาดแบบจำลองธุรกิจในอนาคต (BMC Future) เป็นการปรับปรุงในแต่ละช่อง ทั้ง 9 ช่อง ให้เกิดคุณค่าใหม่ มองเห็นความสัมพันธ์ในแต่ละช่อง ที่จะเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผลกว่าโมเดลธุรกิจเดิม มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น คุณค่าที่ส่งมอบลูกค้าโดนใจมากกว่าเดิม มีความแตกต่างจากคู่แข่ง มีทรัพยากรในการขับเคลื่อนธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างได้และมีคุณค่า มีรายได้หลายรูปแบบ
7. เขียนแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) จากข้อ 6 ให้ชัดเจนโดยใช้ 5W2H และมอบหมายงานให้ชัดเจน
ด้วยกระบวนการทั้ง 7 ขั้นตอนได้นำไปใช้ในการให้คำปรึกษาตามสถานประกอบการต่าง ๆ ก็สามารถปรับปรุงโมเดลธุรกิจให้เติบโตได้ ซึ่งผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้จัดการ ก็สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ ถ้าเรียนรู้เครื่องมือ Business Model Canvas อย่างถ่องแท้ และใช้เป็นประจำก็จะมีความชำนาญเกิดทักษะได้ไม่ยากเย็น
จะดีกว่าไหมที่เราเห็นกลยุทธ์ที่เป็นแผนธุรกิจได้บนกระดาษแผ่นเดียว สร้างธุรกิจเติบโต ด้วยกลยุทธ์ BMC จึงเรียกได้ว่า BMC เป็นเครื่องมือการบริหารธุรกิจที่ทรงพลังอย่างมาก
ใน EP ต่อ ๆ ไป จะแบ่งปันวิเคราะห์กรณีศึกษาธุรกิจที่ใช้เครื่องมือ BMC นี้ในการปรับปรุงโมเดลธุรกิจจนเติบโตมาให้เรียนรู้กัน
“BMC แม้เป็นแผนธุรกิจบนกระดาษแผ่นเดียว แต่ทรงพลังมหาศาล ขนาดที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้”