เลิกจ้าง หยุดเจ๊ง ได้จริงหรือ ?!

387 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เลิกจ้าง หยุดเจ๊ง ได้จริงหรือ ?!

ปัญหาสะสมจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ประกอบกับช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องปิดตัวลง


แต่ก็มีหลายบริษัทที่เลือกใช้นโยบาย ลดค่าใช้จ่าย ลดอัตราของเสียจากการผลิต โดยให้มีของเสียน้อยที่สุดแทนการเลิกจ้างพนักงาน


จะเห็นว่าธุรกิจที่ถูก Disruption ที่ไม่ยอมปรับตัว ไม่วิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือปรับกลยุทธ์มาก่อน เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงจึงกลายเป็นอุบัติเหตุขั้นโคม่า ดังนั้นเมื่อรู้ว่าธุรกิจกำลังถูก Disruption เราต้องกลับมาวิเคราะห์ SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ให้ได้ก่อน แล้วรีบปรับกลยุทธ์ ยกตัวอย่าง RS Group ที่เป็นธุรกิจบันเทิง แต่อยู่รอดปลอดภัยเพราะปรับเปลี่ยนธุรกิจได้ทัน


ยิ่งมีวิกฤติ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า คน คือ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ที่ทุกธุรกิจควรต้องรักษาไว้ เพราะเมื่อยามที่เศรษฐกิจฟื้น บุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตและไปต่อได้ ลองนึกภาพว่า ถ้าธุรกิจเลิกจ้างพนักงานหมด แล้วเมื่อยามที่ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นมา ใครจะมาช่วยธุรกิจเราได้ทัน


เพราะฉะนั้นเมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจ แนวทางก็คือ

1.พยายามลดค่าใช้จ่ายให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก  

2.ใส่ใจเรื่องสต็อกสินค้า

3.รักษาลูกค้าเก่าซึ่งเป็นรายได้หลักให้ได้

4.พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ


เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ได้แปลว่าลูกค้าไม่ซื้อนะครับ เพียงแต่ซื้อน้อยลง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เขาซื้ออย่างต่อเนื่อง อันนี้สำคัญ


ในส่วนของการดูแลพนักงาน HR ควรวางแผนพัฒนาทักษะพนักงานให้เหมาะสมกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาคนหนึ่งคน ควรมีแผนการพัฒนาว่าจะพัฒนาในด้านใด เพื่อเติบโตไปเป็นอะไร อันนี้สำคัญมาก เช่น จะให้พนักงานคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้จัดการ เราต้องรู้ก่อนว่า เขาขาดอะไร แล้วต้องพัฒนาอะไร เพื่อขึ้นไปเป็นผู้จัดการ จากประสบการณ์ SMEs แห่งหนึ่งผู้บริหารเห็นช่างเก่งๆ ก็ดันให้ไปเป็นผู้จัดการ ปรากฏว่าจัดการไม่ได้เลย เพราะไม่ได้พัฒนาเขามาก่อนรับตำแหน่ง


เรื่องการบริหารคน

1.การที่รับคนเข้ามา 1 คน ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า จุดแข็ง จุดอ่อน เขาคืออะไร เราจะให้เขาทำอะไร จะพัฒนาเขาไปทางไหน องค์กรส่วนมากที่มีปัญหา อันดับแรกเพราะไม่เข้าใจ จุดแข็ง จุดอ่อน ของพนักงาน

2.ธุรกิจต้องมีค่านิยมองค์กร หรือ Core Value ที่ชัดเจน เป็นหลักที่ทุกคนต้องมองเห็นเหมือนกัน เพราะพนักงานแต่ละคนมี จุดแข็ง จุดอ่อน ต่างกัน แต่ทุกคนต้องมีค่านิยมร่วมกัน มองไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้การทำงานเกิดความราบรื่น
 

ในมุมของพนักงาน ก็ควรคิดว่า จะช่วยผู้ประกอบการหาทางออกอย่างไรได้ด้วย เช่น ในขณะที่กิจการยังขายของได้อยู่ แม้จะหาลูกค้าใหม่ไม่ได้ เราต้องหาวิธีรักษาลูกค้าเก่าไว้ให้ได้ หรือช่วยกันลดต้นทุน ลดความสูญเปล่า ลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน ซึ่งจะทอนกลับมาเป็นกำไรให้องค์กรได้ในที่สุด


สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสภาพคล่องที่ดี ผู้ประกอบการ SMEs หลายที่ ไม่ค่อยดูงบการเงิน มักจะดูแค่ตอนยื่นภาษี แบบนี้เสี่ยงมาก แนะนำว่าต้องดูเรื่องสภาพคล่อง ดูงบการเงินทุกสัปดาห์ ต้องคุยกันทุกสัปดาห์ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะลดอะไร จะขายอะไร อันนี้ต้องช่วยกัน


ดังนั้น การเลิกจ้าง จึงไม่ใช่ทางออก แต่ทางออกที่ดีคือ เราจะทำอย่างไร มองเห็นโอกาสในวิกฤติไหม เหมือนกรณี JSL กับ RS หรือ เชิดชัยทัวร์ กับ นครชัยแอร์ สิ่งสำคัญคือตัว Business Model ที่จำเป็นต้องเขียน และปรับเปลี่ยนอย่างทันท่วงที โดยการช่วยกันคิดวิเคราะห์ของพนักงานภายในด้วย เพราะฉะนั้นช่วงที่พนักงานว่างงาน หรือมีงานน้อย เราต้องเพิ่มความรู้ความสามารถหลักขององค์กรให้พนักงาน แล้วพนักงานจะช่วยเราได้ครับ


ยังมีมุมมอง มุมคิด ที่ผมต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับ SMEs ทุกท่าน

อีกหลายเรื่อง ติดตามกันได้ในตอนต่อไปครับ


อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจ BCI

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้