ธุรกิจครอบครัวในยุคนี้ บริหารอย่างไรให้ได้ไปต่อ ?

412 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธุรกิจครอบครัวในยุคนี้ บริหารอย่างไรให้ได้ไปต่อ ?

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของธุรกิจครอบครัว ที่เริ่มต้นจากรุ่นพ่อแม่ทำงานในโรงงาน ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการหลอมโลหะ จนวันที่ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจ เป็นโรงหล่อเล็ก ๆ ผลิตสินค้าประเภทสังฆภัณฑ์ กระถางธูป  แจกันทองเหลือง มีคนงาน 2-3 คน ทำการตลาดแบบบ้าน ๆ ตามวิถีคนเริ่มทำธุรกิจ แต่เล็งเห็นว่าธุรกิจนี้มีอนาคต


จากธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ เริ่มมีการทำการตลาด มีการติดต่อค้าขาย จนมีคนงาน 50-60 คน เริ่มมีการหาลูกค้า หาช่องทางทางธุรกิจ มีการขอสินเชื่อจากแหล่งทุนที่ไม่ใชธนาคาร มีการวางแผนด้านการเงิน การขยายการลงทุน จะเห็นว่าธุรกิจนี้สิ่งที่รุ่นแรกสร้างไว้ให้คือมีช่องทางการทำงาน มีสถานที่ มีพนักงาน และมีตลาด


ผ่านไปประมาณ 10 กว่าปี เมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคน สินค้าผลิตได้เร็วขึ้น ต้นทุนลดลง การแข่งขันสูงขึ้น  รุ่นพ่อแม่เริ่มขายสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าประเภทเดิม ไปเป็นผลิตสินค้าส่งให้กับผู้ส่งออก ขยับไปทำสินค้าตกแต่งบ้าน เป็นสินค้าส่งออก ทำให้ธุรกิจขยับขยายเติบโตขึ้นมาก


จนถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ออเดอร์สินค้าตกแต่งบ้าน สินค้าฟุ่มเฟือยสะดุด กำไรเริ่มหาย เงินทุนถูกดึง และเผชิญค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนล้มละลาย ธุรกิจติดเงินกู้นอกระบบจำนวนมาก พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงลิ่ว

 

แม้จะมีวิกฤติแต่ครอบครัวนี้ไม่ไล่พนักงานออกแม้แต่คนเดียว เลือกที่จะเปิดอกคุยกับพนักงานว่าธุรกิจล้มละลาย มีหนี้ ถ้าใครต้องการอยู่ก็ยังมีงานให้ทำ ถ้าใครมีช่องทางหรือมีโอกาสที่ดีกว่าก็ยินดีด้วย ซึ่งไม่มีพนักงานคนไหนลาออกเลย


เมื่อธุรกิจไปต่อไม่ได้ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ถูกยึดหมด มาถึงการตัดสินใจของรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาแก้สถานการณ์ โดยการระบายสินค้าในสต๊อก ออกขายตามงานแฟร์ต่าง ๆ จากนั้นจึงเริ่มทำส่งออกขายตรงให้กับต่างประเทศเอง โดยติดต่อนำเสนอสินค้ากับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อไปออกงาน Fair ในต่างประเทศ จากเดิมที่เคยขายผ่าน Exporter ก็ขยับไปเป็น Exporter รายหนึ่งในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเอง


สถานการร์ทางธุรกิจดูมีแววดีขึ้นมาตลอด จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่ง คือ ตอนที่อเมริกาเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การผลิตและส่งสินค้าแต่ละครั้งถูกดึงเครดิตระยะยาว ทำให้ครอบครัวนี้เห็นว่าธุรกิจส่งออกสินค้าตกแต่งบ้านเริ่มไม่ดี ต้องปรับเปลี่ยนแล้ว
 

จึงมีการคุยกันในครอบครัวว่า จะนำความรู้ที่มีมาผลิตวัตถุดิบทองเหลือง และบรอนซ์ ป้อนโรงงานที่นำไปผลิตเพื่อส่งออก และพยายามกระจายความเสี่ยงออกไปที่สินค้าอื่น ๆ ที่ต้องใช้ทองเหลืองเป็นส่วนประกอบ และพยายามลดต้นทุนวัตถุดิบ ให้มีตลาด มีช่องทางในการขายที่เติบโตกว่าเดิมมาก


จากกรณีศึกษาของธุรกิจครอบครัวนี้  ทำให้เห็นว่ายุคแรกเป็นยุคที่ผลิตอะไรมาก็ขายได้ พอผ่านมายุคหนึ่ง การลอกเลียนแบบมีมากขึ้น คู่แข่งมีเยอะขึ้น ดังนั้นจึงมีการแข่งขันสูงขึ้น ก็จะมีเรื่องของการสร้างความได้เปรียบ การใช้กลยุทธ์ ประกอบกับเจอวิกฤติหนัก ทำให้ผู้บริหารธุรกิจรุ่นแรกตั้งรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง  
 

เรื่องการบริหารพนักงานก็เป็นเรื่องสำคัญ เห็นด้วยว่าการปลดพนักงานขอให้เป็นเรื่องสุดท้าย เพราะมีวิธีการอีกมากมายที่จะให้ธุรกิจไปต่อได้ ต้องชื่นชมธุรกิจครอบครัวตัวอย่าง ที่มีวิธีคิด มีจิตใจผู้ประกอบการที่เป็นนักสู้ สามารถรักษาลูกน้องเอาไว้ได้ เพราะพนักงานที่มีองค์ความรู้ พอถึงยามที่เศรษฐกิจฟื้น เขาจะช่วยให้เราเติบโตไปได้อีกมาก


ในกรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวตัวอย่างนี้เจริญเติบโตมาได้ เพราะการมีภาวะผู้นำสูง การรักษาลูกน้องเอาไว้เพื่อการเติบโตในวันข้างหน้า ดังนั้นวิสัยทัศน์แบบนี้ ถ่ายทอดลงไปถึงคนในครอบครัวและพนักงาน แบบนี้ ทุกคนจะมองเห็นเลยว่าผู้นำคิดอะไรอยู่ มีกลยุทธ์ มีแผนการไปสู่การส่งออก ไปหากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรื่องการบริหารต้นทุน บริหารการผลิต ซึ่งเป็นการบริหารที่ดีเยี่ยม

 

สรุปเป็นต้นแบบในการบริหารธุรกิจครอบครัวได้ว่า


1. ผู้นำมีบทบาทในการนำองค์กรที่ชัดเจน

2. มีการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กันทำในครอบครัวอย่างชัดเจน

3. ผู้นำมีภาวะผู้นำสูง และวิสัยทัศน์ในการมองสถานการ์เพื่อสร้างการเติบโต

4. มีกลยุทธ์ มีแผนงานชัดเจน

5. มีมาตรฐานในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ

6. มีมาตรฐานในการบริหารคนที่ชัดเจน

 

ซึ่งธุรกิจครอบครัวส่วนมากที่ไม่รอดกัน คือ



1. ไม่มีความไว้ใจกันในครอบครัว

2. ไม่มีการมอบหมายงานให้ชัดเจน ต่างคนต่างทำงาน

3. ขาดวิสัยทัศน์ ขาดกลยุทธ์

4. ขาดมาตรฐานในการทำงาน

5. ขาดมาตรฐานในการบริหารคน

6. ขาดความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลง

 

จากกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมา สรุปเรื่องสำคัญในการบริหารธุรกิจให้สำเร็จได้ว่า

1. เรื่องของการนำองค์กร ภาวะผู้นำ ต้องมีวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์

2. เรื่องการมีมาตรฐาน ทั้งการบริหาร การผลิตที่ได้ตามมาตรฐาน

3. เรื่องการบริหารคน การถ่ายทอดความรู้ความสามารถหลักขององค์กรให้แก่พนักงาน

4. เรื่องการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางธุรกิจ ที่ต้องมีการวิเคราะห์ SWOT เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา
 

ในฐานะผู้ให้คำปรึกษา เราไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือเปลี่ยนความคิดหลักในการบริหารได้ แต่ที่ปรึกษาจะให้ความรู้ในการที่ทำให้องค์กรรอดได้ กล่าวได้ว่าถ้าในครอบครัวยังไม่สมัครสมานสามัคคีกัน ปรับเปลี่ยนกันไม่ได้ ก็ลำบากครับ
 

ยังมีมุมมอง มุมคิด ที่ผมต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับ SMEs ทุกท่าน
อีกหลายเรื่อง ติดตามกันได้ในตอนต่อไปครับ

 

อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจ BCI
ผู้เขียนหนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้