ภาวะเงินเฟ้อ ในช่วง 1-2 ปีนี้ กระทบต่อความผันผวนของราคาต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมัน พลังงาน ที่สูงขึ้น แต่การที่จะผ่องถ่ายไปที่ราคาสินค้าและบริการคงทำได้ลำบาก เพราะลูกค้าก็ลำบากและมีกำลังซื้อที่ลดลงเช่นกัน ผู้ผลิตจึงต้องแบกภาระของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อกำไร หรืออาจจะขาดทุนได้
หรือหากคิดจะเปลี่ยนวัตถุดิบ เปลี่ยนการใช้พลังงาน หรือเปลี่ยน Supplier ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวนี้ก็คงลำบากด้วยเหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำก็คือ การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมความสูญเปล่าในกระบวนการ ให้ลดความสูญเปล่าลง อันนี้จะช่วยทำให้ต้นทุนลดลงในระยะสั้น
ส่วนเรื่องการลดพนักงาน ควรมองไว้เป็นเรื่องท้าย ๆ หากสินค้าและบริการของเรายังเป็นที่ต้องการของตลาด นั่นหมายความว่าเรายังผลิตและขายได้
ขอแนะนำให้กลับมาดูที่ปัจจัยภายในและวางแผนสร้างความแข็งแกร่ง
โดยแบ่งกองกำลังภายในเป็น 4 กอง ดังนี้
กองหน้า คือ ฝ่ายขายและการตลาด จะต้อง
1.ประมาณการขายให้ได้ ทำ Scenario ให้ได้ว่าจะขายได้อย่างไร
2.หาสินค้าตัวไหนเพิ่มได้บ้าง
3.พยายามหาทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้รายได้เราเท่าเดิม หรือ
4.แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ มาเพิ่มอย่างนี้เป็นต้น
กองกลาง คือ ฝ่ายผลิตและบริการขนส่ง โลจิสติกส์ ให้ดูเรื่อง
1.ลดต้นทุน ว่าเราสามารถลดต้นทุนอะไรได้บ้าง
2.พัฒนาประสิทธิภาพอะไรได้บ้าง ปรับปรุงกระบวนการอะไรได้บ้าง
3.เช็ค Stock สินค้าหมุนเวียนช้ามีเยอะไหม แบบนี้รีบเอามาดำเนินการก่อนถือว่าเป็นโอกาส
ส่วนกองหลัง คือ ฝ่ายการเงิน ต้อง
1.ควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน ดูกระแสเงินสด ดูอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ เจ้าหนี้
2.เช็คสินค้าคงคลัง เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียน และ
3.ควบคุมการทำงานให้กิดกำไรสูงสุดเท่าที่จะทำได้
กองสนับสนุน คือ HR ต้อง
1.มีบทบาทในการพัฒนาคน ให้คนมีทักษะเพิ่มขึ้น
2.สร้างทีมให้มีทักษะที่หลากหลาย
3.เรียนรู้ความสามารถหลักขององค์กร เมื่อเห็นโอกาสใหม่ ๆ ก็จะได้ปรับเปลี่ยนกันได้ง่าย
เพราะธุรกิจแม้นดิ่งลงแล้ว ย่อมมีวันฟื้น ขอยกตัวอย่างธุรกิจขนส่ง ช่วงวิกฤติโควิด-19 ในขณะที่เชิดชัยทัวร์บอกขายกิจการเพราะรับภาระต้นทุนไม่ไหว แต่นครชัยแอร์กลับมีการปรับโมเดลธุรกิจเป็นบริการรับส่งสินค้าผักผลไม้สด และพัฒนาบุคลากรให้มีการบริการที่ดีขึ้น จะเห็นว่าถ้าธุรกิจยังเป็นที่ต้องการของตลาด นั่นหมายความว่ายังไปต่อได้
ผู้นำองค์กรเองจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการมอง ต้องคอยวิเคราะห์ SWOT Analysis ให้ถี่มากขึ้น พร้อมจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจได้ทันที และทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนร่วม เพราะผู้บริหารไม่สามารถคิดเองได้ทุกเรื่อง เมื่อทุกคนช่วยกันทำ SWOT Analysis ทุกคนก็จะเห็นภาพว่า เราจะไปทางไหนกันดี เมื่อเจออุปสรรคทุกคนก็ช่วยกันปฏิบัติ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการคิด และมีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทุกหน่วยงานควรกำหนดมาตรฐานกันขึ้นมา ว่าจะทำอย่างไร มีตัวชี้วัดอะไรเพื่อให้เห็นภาพของการเติบโตของกิจกรรม งานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมีการควบคุมให้ได้ตามนั้น ถ้าไม่ได้ ต้องมีการแก้ไขโดยทันที นี่คือโครงสร้างที่ทำให้องค์กรแข็งแกร่ง
ส่วนธุรกิจไหนที่ต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำว่าอันดับแรกก็ต้องวิเคราะห์ SWOT Analysis ให้ได้ก่อน ว่าเราเห็นอะไร แต่การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนด้านการเพิ่มทักษะของพนักงานและการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการทำงาน ลดการทำงานที่ซับซ้อนลง ยังไม่แนะนำให้ลงทุนในเครื่องจักรที่ใช้ระยะเวลาในการคืนทุนนาน ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงและการ Disruption ยังมีอยู่อีกมาก
อีกส่วนหนึ่งก็คือการหาที่ปรึกษาที่ดี เพราะที่ปรึกษาจะมีมุมมองและคิดอย่างเป็นกระบวนการ ที่ปรึกษาต้องมองว่า ปัจจัยที่ทำให้องค์กรเจริญเติบโตนั้นมีอะไรบ้าง ธุรกิจเองเคยมองปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยให้ทำธุรกิจนั้นดีมากน้อยแค่ไหน และเชื่อมโยงในทุกกระบวนการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น เรื่องการวางกลยุทธ์การใช้ Balance Scorecard เรื่องการกำหนด KPI มีมุมมองในเรื่องการพัฒนาบุคลากร มีการสร้างกระบวนการที่ดี เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ ลูกค้ามีการซื้อซ้ำไหม รายได้เพิ่มขึ้นไหม กำไรเพิ่มขึ้นไหม เหล่านี้เป็นมุมมองของที่ปรึกษา ที่ช่วยให้ธุรกิจมีกระบวนการในการดำเนินงาน มีการเชื่อมโยงกัน เพื่อผลลัพธ์ขององค์กร ที่สำคัญคือ ที่ปรึกษาควรสอนในเรื่องของการวินิจฉัยธุรกิจด้วย
SMEs บางรายไม่สามารถวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ว่า ในกระบวนการทั้งหมดมีอะไรที่ผิดพลาดบ้าง มีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีตัวชี้วัดไหม จะพัฒนาตัวชี้วัดได้อย่างไร แล้วจะพัฒนาข้อมูลอย่างไร SMEs บางรายเติบโตขึ้นมาโดยการที่ผลิตสินค้าได้ ขายสินค้าได้ แต่วางระบบไม่ได้ ทำให้เมื่อเจอปัญหา หรือคลื่นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ธุรกิจจึงไปต่อไม่ได้ เรื่องจำเป็นต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ปรึกษาจึงมีส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยวิเคราะห์ วางระบบ แนะนำจนกระทั่ง SMEs สามารถวินิจฉัยองค์กร และดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนเติบโตต่อไปได้
ยังมีมุมมอง มุมคิด ที่ผมต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับ SMEs ทุกท่าน
อีกหลายเรื่อง ติดตามกันได้ในตอนต่อไปครับ
วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจ BCI
ผู้เขียนหนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน